เตือนเฝ้าระวัง ไวรัสซิกา หรือ ไข้ซิกา สาเหตุหลัก จากยุงลาย

โพสเมื่อ: 11 ตุลาคม, 2016 | | namyuensso

f17

วันนี้ (21 มกราคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไต้หวัน เฝ้าระวังและตรวจพบชายไทยที่กำลังเดินทางสู่ไต้หวันมี เชื้อไวรัสซิกา ที่กำลังระบาดในหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน นั้น เมื่อวานนี้(20 มกราคม 2559) กรมควบคุมโรค ได้ประชุมปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญ เรื่อง โรคไข้ซิกา เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังและหารือมาตรการป้องกันโรคดังกล่าว โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เป็นประธาน พร้อมคณะที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กรมควบคุมโรค คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสถานการณ์โรค ไข้ซิกา ประเทศไทยพบครั้งแรก พ.ศ.2555 พบกระจายทุกภาคและมีผู้ป่วยยืนยันเฉลี่ยปีละ 5 ราย สาเหตุหลักเกิดจากโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด และช่องทางอื่นที่เป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านการถ่ายเลือด แพร่จากจากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ ทั้งนี้ ได้เตรียมการเฝ้าระวังโรค โดยแบ่งเป็น 4 ด้านสำคัญ ดังนี้ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท

ด้านการรักษา โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ คำแนะนำสำหรับประชาชน คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ซึ่งเป็นการป้องกันควบคุมโรคเช่นเดียวกับไข้เลือดออก หากประชาชนมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ อาจมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคนี้ อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น คำแนะนำสำหรับผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกา(ประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน) ขอให้ผู้เดินทางระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ก่อนเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคควรปรึกษาแพทย์

ส่วนผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในประเทศไทย มีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ สามารถมารับการรักษาและปรึกษาได้ที่คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้เตรียมจัดทำประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง“ โรคไข้ซิกา ” เพื่อให้ประชาชนตระหนักในมาตรการป้องกันโรคและช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเน้นใช้หลัก 3เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆบ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย และ3.เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริเวณครัวเรือน โรงเรียน เขตก่อสร้าง สถานีขนส่ง และหอพักรอบมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยให้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

 

ที่มา http://health.mthai.com/knowledge/12473.html

ข่าวที่น่าสนใจ
ข่าวล่าสุด
สาธารณสุขอำเภอน้ำยืนประชุมประจำเดือนตุลาคม 2567 บุคลากรสาธารณสุข สังกัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอน้ำยืน คณะเจ้าหน้าที่ อสม.อำเภอน้ำยืน ศึกษาดูงาน บ่อบำบัดสิ่งปฏิกูล ณ เทศบาลตำบลบ้านกอก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สาธารณสุขอำเภอน้ำยืนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือ นายแพทย์.ชัยวัฒน์ ดาราสิชฌน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ประธานในการปิดการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว/อาสาสมัครสาธารณสุขอาเซียนตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ปีงบประมาณ 2567 นายธานินทร์ ไชยานุกูล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในงานเปิดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว/อาสาสมัครสาธารณสุขอาเซียนตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ปีงบประมาณ 2567 สสอ.น้ำยืน ร่วมกิจกรรมวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอน้ำยืน และสนับสนุนเงินบางส่วนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่กำนัน สสอ.น้ำยืน ร่วมงานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา "เซียมซี ซ่อมใจ" นวัตกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความสุข รพ.สต.ยางใหญ่ ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และ ซี รพ.สต. ตาโม ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี 2567