ข้อมูลพื้นฐานอำเภอน้ำยืน
1.ข้อมูลทั่วไป ปัจจัยนำเข้า ให้เห็นสภาพทั่วไป ตามบริบทพื้นที่
ประวัติอำเภอน้ำยืน
อำเภอน้ำยืนเดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอน้ำยืน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2512 โดยมีเขตการปกครอง 4 ตำบล คือ ตำบลโซง ตำบลตาเกา ตำบลยาง และตำบลโดมประดิษฐ์ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอน้ำยืน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2517
สาเหตุที่เรียกว่า อำเภอน้ำยืน ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 เรียกชื่อตามหมู่บ้านน้ำยืนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอน้ำยืนไปทาง ทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร
ประการที่ 2 เนื่องจากที่ว่าการอำเภอน้ำยืน ตั้งอยู่ระหว่างลำห้วย 3 สายที่ไหลมาบรรจบกัน ประกอบด้วย ลำห้วยบอน ลำห้วยโซง และลำห้วยตาเอ็ม มีน้ำไหลตลอดปี เป็นที่อุดมด้วยแหล่งน้ำ จึงได้ชื่อว่า “อำเภอน้ำยืน”
และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งประกาศจัดตั้ง กิ่งอำเภอน้ำขุ่น โดยแยกพื้นที่บางส่วนทางด้านทิศตะวันตก อำเภอจากอำเภอน้ำยืน จำนวน 4 ตำบล 55 หมู่บ้าน ปัจจุบันอำเภอน้ำยืน ประกอบด้วย 7 ตำบล 101 หมู่บ้าน
สภาพทั่วไปและอาณาเขต
อำเภอน้ำยืนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดอุบลราชธานีห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 110 กิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งศรีอุดม และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยกัมพูชา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี และเมืองสุขุมาแขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ กิ่งอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี
มีพื้นที่ทั้งหมด 875.50 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ บางตอนมีความลาดเอียงค่อนข้างสูง เป็นดินร่วนสีแดง ปนทราย ดินร่วนสีดำปนทราย และดินลูกรัง พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมีประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ทางทิศใต้มีเทือกเขาหลายแห่ง ที่สำคัญมี 3 ชื่อ ได้แก่ ช่องโพย ช่องอานม้า และช่องบก ถัดจากบริเวณเทือกเขาเป็นป่าโปร่ง ส่วนมากเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้นานาชนิด เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ลักษณะพื้นที่เป็นป่าเขา 30% พื้นที่ทำนา 40% พื้นที่ทำไร่ 30%
เขตการปกครอง
อำเภอน้ำยืน แบ่งการปกครองเป็น 7 ตำบล 102 หมู่บ้าน
- ตำบลโซงแบ่งเป็น 12 หมู่บ้าน
- ตำบลโดมประดิษฐ์แบ่งเป็น 21 หมู่บ้าน
- ตำบลยางแบ่งเป็น 13 หมู่บ้าน
- ตำบลบุเปือยแบ่งเป็น 15 หมู่บ้าน
- ตำบลยางใหญ่ แบ่งเป็น 12 หมู่บ้าน
- ตำบลสีวิเชียรแบ่งเป็น 16 หมู่บ้าน
- ตำบลเก่าขามแบ่งเป็น 13 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
อำเภอน้ำยืน มีการแบ่งเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล 3 แห่ง(เทศบาลตำบล น้ำยืน,เทศบาลตำบลสีวิเชียร,เทศบาลตำบลโซง) และองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5 แห่ง (เก่าขาม,ยางใหญ่,ยาง,โดมประดิษฐ์และบุเปือย) รวมเป็น 8 แห่ง
สภาพทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของอำเภอน้ำยืน ประชากรส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.5 ประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อของอำเภอน้ำยืน คือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง มะขามหวาน พันธุ์พระโรจน์ มะม่วง ลำไย และผลไม้ตามฤดูกาลต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีการปลูกยางพาราและกำลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอน้ำยืนในปัจจุบันด้วย
การคมนาคม
การคมนาคมของอำเภอน้ำยืน สามารถเดินทางติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงได้หลายเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายอำเภอน้ำยืน-บ้านแก้ง-เดชอุดม,เส้นทางสาย น้ำยืน-ทุ่งศรีอุดม-เดชอุดม( 2214) ,เส้นทางสายน้ำยืน-บ้านด่าน – อ.กันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ (2248) และเส้นทางสายน้ำยืน-บ้านโนนสูง-อ.นาจะหลวย ( 2248) จังหวัดอุบลราชธานี
ข้อมูลประชากร
อำเภอน้ำยืนมีจำนวนประชากรตาม JHCIS รายสถานบริการ( ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559) ทั้งสิ้น 61,571 คน มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 16,616 ดังรายละเอียดในตารางที่ 1
ประเภท | จำนวนประชาการ |
จำนวนหลังคาเรือน | 16,616 |
จำนวนประชากรทั้งหมด | 61,571 |
เพศชาย | 30,833 |
เพศหญิง | 30,738 |
ที่มา : ข้อมูล JHCIS รายสถานบริการ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559
ข้อมูลด้านการศึกษา
ข้อมูลด้านการศึกษาของอำเภอน้ำยืน มีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้
โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 40 แห่ง (สังกัด สพฐ.37 แห่ง สังกัด ตชด. 2 แห่งกรมการศาสนา 1 แห่ง )
โรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 2 แห่ง
โรงเรียนมัธยมศึกษาขยายโอกาส จำนวน 9 แห่ง
โรงเรียนอนุบาล จำนวน 2 แห่ง
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 49 แห่ง
ห้องสมุดประชาชน จำนวน 1 แห่ง
ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน จำนวน 1 แห่ง
แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
ตามคำขวัญของอำเภอน้ำยืนที่ว่า “ดินแดนสามเหลี่ยมมรกต งามงดพลาญเสือ เหลือเฟืออัญมณี มากมีพืชเศรษฐกิจ ถิ่นสถิตนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทุกถิ่นถ้วนล้วนพัฒนา” อำเภอน้ำยืนมีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น น้ำตกแก่งลำดวน ซึ่งมีกุ้งเดินขบวน ในช่วงหน้าฝน( เดือนกันยายน –ตุลาคม) เขื่อนพลาญเสือตอนบน เขื่อนพลาญเสือตอนล่าง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโนนสูง ตำบลโดมประดิษฐ์ นอกจากนี้อำเภอน้ำยืนมีช่องทางติดต่อกับต่างประเทศอีกช่อง 2 ช่องทางคือ ช่องบก( ติดต่อกับประเทศลาว และกัมพูชา ตรงสามเหลี่ยมมรกต) และ ช่องอานม้า ( ติดต่อกับประเทศกัมพูชา) ซึ่งปัจจุบัน อำเภอน้ำยืน และ อำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ของประเทศกัมพูชา ได้เปิดเป็นจุดผ่อนปรนค้าขายชั่วคราว และได้มีการก่อสร้างถนนลาดยางขึ้นไปทั้ง 2 ช่องทางเพื่อการเดินทางติดต่อซึ่งกันและกัน
ในส่วนของวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ประชาชนอำเภอน้ำยืน ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีตามหลักพระพุทธศาสนา เช่น ประเพณีแห่เทียนพรรษา งานออกพรรษา บุญบั้งไฟ ภาษาท้องถิ่นมี ภาษาลาว เขมร และ ส่วย
การนับถือศาสนา
ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 99.2 นับถือศาสนาพุทธ มีส่วนน้อยนับถือศาสนาคริสต์ และ
ศาสนาอื่น ๆ อำเภอน้ำยืน มีวัดพระพุทธศาสนา จำนวน 56 วัดและมีโบสถ์คาทอลิก จำนวน 1 แห่ง
ความหนาแน่นของประชากร
อำเภอน้ำยืนมีพื้นที่ทั้งหมด 875.50 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของประชากร คิดเป็น 77.30 คน ต่อตารางกิโลเมตร
การสาธารณูปโภค
อำเภอน้ำยืนมีแหล่งสาธารณูปโภค ดังนี้ คือ
สถานีไฟฟ้าย่อย จำนวน 1 แห่ง
ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จำนวน 1 แห่ง
ชุมสายโทรศัพท์ จำนวน 1 แห่ง
ประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 1 แห่ง
ประปาหมู่บ้าน จำนวน 65 แห่ง