ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลพื้นฐานอำเภอน้ำยืน

1.ข้อมูลทั่วไป ปัจจัยนำเข้า ให้เห็นสภาพทั่วไป ตามบริบทพื้นที่

      ประวัติอำเภอน้ำยืน

อำเภอน้ำยืนเดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม  กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอน้ำยืน เมื่อวันที่  17  มีนาคม พ.ศ. 2512 โดยมีเขตการปกครอง  4  ตำบล คือ   ตำบลโซง ตำบลตาเกา  ตำบลยาง และตำบลโดมประดิษฐ์  ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอน้ำยืน เมื่อวันที่ 29  มีนาคม  พ.ศ. 2517

สาเหตุที่เรียกว่า อำเภอน้ำยืน ด้วยเหตุผล  2  ประการ คือ

ประการที่ 1 เรียกชื่อตามหมู่บ้านน้ำยืนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอน้ำยืนไปทาง        ทิศตะวันตกประมาณ  2  กิโลเมตร

ประการที่ 2 เนื่องจากที่ว่าการอำเภอน้ำยืน ตั้งอยู่ระหว่างลำห้วย  3 สายที่ไหลมาบรรจบกัน ประกอบด้วย ลำห้วยบอน ลำห้วยโซง  และลำห้วยตาเอ็ม มีน้ำไหลตลอดปี เป็นที่อุดมด้วยแหล่งน้ำ จึงได้ชื่อว่า “อำเภอน้ำยืน”

และเมื่อวันที่  17  กรกฎาคม  พ.ศ. 2539  กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งประกาศจัดตั้ง    กิ่งอำเภอน้ำขุ่น โดยแยกพื้นที่บางส่วนทางด้านทิศตะวันตก  อำเภอจากอำเภอน้ำยืน จำนวน  4  ตำบล  55  หมู่บ้าน  ปัจจุบันอำเภอน้ำยืน ประกอบด้วย 7 ตำบล 101  หมู่บ้าน

     สภาพทั่วไปและอาณาเขต

อำเภอน้ำยืนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดอุบลราชธานีห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 110 กิโลเมตร  มีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ  อำเภอทุ่งศรีอุดม และอำเภอเดชอุดม  จังหวัดอุบลราชธานี

ทิศใต้   ติดต่อกับ  อำเภอจอมกระสาน   จังหวัดพระวิหาร สาธารณรัฐ   ประชาธิปไตยกัมพูชา

ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  อำเภอนาจะหลวย   จังหวัดอุบลราชธานี  และเมืองสุขุมาแขวงจำปาสัก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ กิ่งอำเภอน้ำขุ่น  จังหวัดอุบลราชธานี

มีพื้นที่ทั้งหมด  875.50  ตารางกิโลเมตร

       ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ บางตอนมีความลาดเอียงค่อนข้างสูง เป็นดินร่วนสีแดง ปนทราย ดินร่วนสีดำปนทราย และดินลูกรัง พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมีประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ทางทิศใต้มีเทือกเขาหลายแห่ง ที่สำคัญมี  3  ชื่อ ได้แก่ ช่องโพย  ช่องอานม้า และช่องบก ถัดจากบริเวณเทือกเขาเป็นป่าโปร่ง ส่วนมากเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้นานาชนิด เช่น ไม้เต็ง  ไม้รัง  ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ลักษณะพื้นที่เป็นป่าเขา  30% พื้นที่ทำนา  40% พื้นที่ทำไร่ 30%

       เขตการปกครอง

อำเภอน้ำยืน แบ่งการปกครองเป็น  7  ตำบล  102  หมู่บ้าน

  1. ตำบลโซงแบ่งเป็น 12  หมู่บ้าน
  2. ตำบลโดมประดิษฐ์แบ่งเป็น 21  หมู่บ้าน
  3. ตำบลยางแบ่งเป็น 13  หมู่บ้าน
  4. ตำบลบุเปือยแบ่งเป็น 15  หมู่บ้าน
  5. ตำบลยางใหญ่ แบ่งเป็น 12  หมู่บ้าน
  6. ตำบลสีวิเชียรแบ่งเป็น 16  หมู่บ้าน
  7. ตำบลเก่าขามแบ่งเป็น 13  หมู่บ้าน

        การปกครองส่วนท้องถิ่น

อำเภอน้ำยืน มีการแบ่งเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล 3 แห่ง(เทศบาลตำบล    น้ำยืน,เทศบาลตำบลสีวิเชียร,เทศบาลตำบลโซง)  และองค์การบริหารส่วนตำบล  จำนวน  5  แห่ง     (เก่าขาม,ยางใหญ่,ยาง,โดมประดิษฐ์และบุเปือย) รวมเป็น 8 แห่ง

        สภาพทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของอำเภอน้ำยืน ประชากรส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.5  ประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่  ทำสวน  ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อของอำเภอน้ำยืน คือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง มะขามหวาน พันธุ์พระโรจน์ มะม่วง ลำไย และผลไม้ตามฤดูกาลต่าง ๆ  นอกจากนั้นยังมีการปลูกยางพาราและกำลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอน้ำยืนในปัจจุบันด้วย

         การคมนาคม

การคมนาคมของอำเภอน้ำยืน  สามารถเดินทางติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงได้หลายเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายอำเภอน้ำยืน-บ้านแก้ง-เดชอุดม,เส้นทางสาย     น้ำยืน-ทุ่งศรีอุดม-เดชอุดม( 2214) ,เส้นทางสายน้ำยืน-บ้านด่าน – อ.กันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ (2248)  และเส้นทางสายน้ำยืน-บ้านโนนสูง-อ.นาจะหลวย ( 2248)  จังหวัดอุบลราชธานี

         ข้อมูลประชากร

อำเภอน้ำยืนมีจำนวนประชากรตาม JHCIS รายสถานบริการ( ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559) ทั้งสิ้น   61,571 คน   มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด  16,616 ดังรายละเอียดในตารางที่ 1

ประเภท จำนวนประชาการ
จำนวนหลังคาเรือน 16,616
จำนวนประชากรทั้งหมด 61,571
เพศชาย 30,833
 เพศหญิง 30,738

ที่มา : ข้อมูล JHCIS รายสถานบริการ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี  ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

cp01

    ข้อมูลด้านการศึกษา

ข้อมูลด้านการศึกษาของอำเภอน้ำยืน มีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา    ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้

โรงเรียนประถมศึกษา  จำนวน  40  แห่ง (สังกัด สพฐ.37  แห่ง สังกัด ตชด. 2 แห่งกรมการศาสนา 1 แห่ง )

โรงเรียนมัธยมศึกษา                                 จำนวน           2        แห่ง

โรงเรียนมัธยมศึกษาขยายโอกาส             จำนวน           9        แห่ง

โรงเรียนอนุบาล                                          จำนวน           2        แห่ง

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก                                     จำนวน           49      แห่ง

ห้องสมุดประชาชน                                      จำนวน           1        แห่ง

ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน             จำนวน           1        แห่ง

       แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

ตามคำขวัญของอำเภอน้ำยืนที่ว่า “ดินแดนสามเหลี่ยมมรกต งามงดพลาญเสือ  เหลือเฟืออัญมณี  มากมีพืชเศรษฐกิจ ถิ่นสถิตนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทุกถิ่นถ้วนล้วนพัฒนา” อำเภอน้ำยืนมีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น น้ำตกแก่งลำดวน ซึ่งมีกุ้งเดินขบวน ในช่วงหน้าฝน( เดือนกันยายน –ตุลาคม)  เขื่อนพลาญเสือตอนบน เขื่อนพลาญเสือตอนล่าง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโนนสูง  ตำบลโดมประดิษฐ์  นอกจากนี้อำเภอน้ำยืนมีช่องทางติดต่อกับต่างประเทศอีกช่อง 2 ช่องทางคือ ช่องบก( ติดต่อกับประเทศลาว และกัมพูชา ตรงสามเหลี่ยมมรกต) และ ช่องอานม้า ( ติดต่อกับประเทศกัมพูชา)  ซึ่งปัจจุบัน   อำเภอน้ำยืน และ อำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ของประเทศกัมพูชา ได้เปิดเป็นจุดผ่อนปรนค้าขายชั่วคราว และได้มีการก่อสร้างถนนลาดยางขึ้นไปทั้ง 2 ช่องทางเพื่อการเดินทางติดต่อซึ่งกันและกัน

ในส่วนของวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ประชาชนอำเภอน้ำยืน ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีตามหลักพระพุทธศาสนา เช่น ประเพณีแห่เทียนพรรษา  งานออกพรรษา บุญบั้งไฟ ภาษาท้องถิ่นมี ภาษาลาว เขมร  และ ส่วย

        การนับถือศาสนา

 ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ  99.2  นับถือศาสนาพุทธ มีส่วนน้อยนับถือศาสนาคริสต์ และ

ศาสนาอื่น ๆ อำเภอน้ำยืน มีวัดพระพุทธศาสนา จำนวน  56  วัดและมีโบสถ์คาทอลิก   จำนวน  1  แห่ง

        ความหนาแน่นของประชากร

อำเภอน้ำยืนมีพื้นที่ทั้งหมด  875.50  ตารางกิโลเมตร  มีความหนาแน่นของประชากร     คิดเป็น 77.30  คน  ต่อตารางกิโลเมตร

       การสาธารณูปโภค

อำเภอน้ำยืนมีแหล่งสาธารณูปโภค  ดังนี้ คือ

สถานีไฟฟ้าย่อย                           จำนวน           1        แห่ง

ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข           จำนวน           1        แห่ง

ชุมสายโทรศัพท์                           จำนวน           1        แห่ง

ประปาส่วนภูมิภาค                        จำนวน           1        แห่ง

ประปาหมู่บ้าน                               จำนวน           65      แห่ง